รสหม่าล่า เผ็ด ๆ ชา ๆ
เอกลักษณ์อาหารจีนเสฉวน
วันนี้เลยอยากมาเล่าถึงรสชาติแบบ “ หมาล่า” ให้ได้เข้าใจกันอย่างหมดข้อสงสัยไปเลยค่ะ
หม่าล่า มาจากภาษาจีนว่า 麻辣 /má là/ อ่านเป็นเสียงภาษาไทยว่า
หม่า-ล่า ซึ่งคำว่า “หมา” หมายถึง อาการชาที่จะรู้สึกได้ที่ปลายลิ้น และ “ล่า”
หมายถึง รสชาติเผ็ด เมื่อรวมกันแล้วจึงหมายความว่ารสชาติแบบเผ็ด ๆ ชา ๆ
ที่ปลายลิ้น โดยรสชาติแบบนี้มาจากเครื่องเทศอย่างหนึ่งที่มีต้นกำเนิดจากมณฑลเสฉวน
ประเทศจีน เรียกว่า ฮวาเจียว (花椒 /huā jiāo/) รูปร่างหน้าตาคล้ายเม็ดพริกไทยดำ ในภาษาอังกฤษจึงเรียกว่า Sichuan
pepper (พริกไทยเสฉวน)
เครื่องเทศฮวาเจียว
สรรพคุณจากฮวาเจียว
ฮวาเจียวหรือมะแขว่นมีสรรพคุณขับลมในลำไส้ แก้หวัด
แก้วิงเวียนศีรษะ สามารถดับกลิ่นคาวในเนื้อสัตว์ได้ บ้างก็นำมาต้มดื่มเป็นยาแก้ไข้
แถมยังช่วยขับระดูในสตรีได้
ด้วยความที่มีสรรพคุณมากมายฮวาเจียวจึงถูกนำมาปรุงอาหารและใช้เป็นยามานานแล้ว
และในปัจจุบันมีการนำฮวาเจียวมาทำเป็นยาบำรุงหัวใจและบำรุงเลือดอีกด้วย
รสหมาล่าในอาหารทุกประเภท
ในประเทศจีนรสหมาล่าสามารถใส่ได้กับอาหารแทบทุกประเภท
ไม่ว่าจะต้ม ผัด ทอด หรือปิ้งย่าง ถือเป็นการเพิ่มความเอร็ดอร่อยให้กับอาหาร
สร้างรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งไม่สามารถพบเห็นได้นอกจากในประเทศจีน
สำหรับคนที่ไม่เคยกินก็อาจจะรู้สึกแปลก ๆ กับรสชาติแบบนี้ แต่ถ้าหากได้กินไปเรื่อย
ๆ คุณก็อาจตกหลุมรักในรสชาติแบบหมาล่าเลยก็ว่าได้
อาหารที่ได้รับความนิยมจากการใส่รสหมาล่า ได้แก่ หม้อไฟหมาล่า, เต้าหู้ผัดพริกเสฉวน, บาร์บีคิวสไตล์จีน
(มีการโรยผงหมาล่า), มันฝรั่งทอดคลุกเคล้าด้วยผงหมาล่า
เป็นต้น
หม้อไฟซุปเผ็ดหมาล่า เหมาะกินกับเนื้อแกะ
เพราะมีกลิ่นสาบมากกว่าเนื้อชนิดอื่น ๆ
ซาวข่าว หรือ บาร์บีคิวสไตล์จีน มักปรุงรสด้วยผงหมาล่า ชูรสและดับกลิ่น โดยเฉพาะเนื้อแกะ
ก๋วยเตี๋ยวชนิดหนึ่งของจีนเสิร์ฟในซุปรสหมาล่า เผ็ด ชา อร่อย
เต้าหู้ผัดพริกเสฉวน เมนูขึ้นชื่อของมณฑลเสฉวน ต้นกำเนิดฮวาเจียวและรสหมาล่า
จะหารสชาติหมาล่าได้หรือไม่?
สำหรับในบ้านเราอาจจะหากินอาหารที่มีรสหมาล่าได้ยาก
แต่เครื่องเทศอย่างฮวาเจียวนั้น สามารถหาได้ในประเทศไทยค่ะ ในประเทศไทยเรียกว่า
“มะแขว่น” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์อยู่ในตระกูลเดียวกัน คือ Zanthoxylum
ว่ากันว่าพบได้ในภาคเหนือ
ในอาหารล้านนาอาจพบเห็นอาหารรสหมาล่าก็เป็นได้
แต่สำหรับคนที่เคยกินทั้งฮวาเจียวและมะแขว่นกลับบอกว่าทั้ง 2
อย่างนี้แม้ว่าจะกินแล้วให้อาการแบบชาลิ้น แต่ก็ไม่เหมือนกันซะทีเดียว
ถ้าอยากรู้ว่าต่างกันขนาดไหน เพื่อน ๆ อาจจะต้องไปลองพิสูจน์รสหมาล่าดูแล้วล่ะค่ะ
ที่มา:https://th.openrice.com/th/bangkok/article/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น